ไม่มีสินค้าในตะกร้า
ยอดเงินรวม:
0.00 Baht
ถังไม้ตีข้าวญี่ปุ่น หรือ Hangiri(飯切り) คืออุปกรณ์ทำซูชิแบบดั้งเดิมที่ขาดไม่ได้ ด้วยคุณสมบัติช่วยดูดซับน้ำส่วนเกินจากการตีผสมข้าวซูชิทำให้ข้าวไม่แห้งเกินไปและไม่แฉะจนเกินไป ทำให้ได้ข้าวที่มีความชุ่มชื้นกำลังพอดี อีกทั้งยังช่วยกระจายอุณหภูมิได้ดี เมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆ เช่นพลาสติกหรือโลหะ ถังไม้ตีข้าวที่ดีจึงเป็นมากกว่าอุปกรณ์ครัวธรรมดาๆ แต่เป็นตัวช่วยส่งเสริมรสชาติและอุณหภูมิในข้าวซูชิให้นุ่มนวลตามแบบฉบับชาวญี่ปุ่น
ไม้ที่นำมาใช้ทำไม้ตีข้าวญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม คือไม้สนซาวาระคุณภาพสูง (Japanese Cypress) ที่โตบนภูเขา นั่นทำให้ไม้ย่อมมีราคาสูง แต่ไม้สนซาวาระขึ้นชื่อเรื่องความแข็งแรงทนทาน และความสวยงาม ไม้สนซาวาระมีคุณสมบัติในการต้านทานเชื้อรา มอด และแมลงเจาะได้ดี (แต่ยังสามารถขึ้นราได้หากมีสิ่งสกปรกหรือความชื้นสะสมเป็นเวลานาน) อีกทั้งยังมีการปริ
แตก หรือเปลี่ยนรูปได้ยากหากดูแลอย่างถูกวิธี ตัวไม้เองมีน้ำมันตามธรรมชาติที่มีคุณสมบัติช่วยรักษาเนื้อไม้ และมีกลิ่นที่ให้ความสดชื่นตามธรรมชาติอีกด้วย เมื่อนำถังไม้สนซาวาระเป็นภาชนะในการผสมข้าวซูชิจะให้กลิ่นอ่อนๆที่ส่งเสริมไปกับข้าวซูชิเป็นอย่างดี ไม่กลบหรือรบกวนกลิ่นของข้าวซูชิ แต่หากบางท่านไม่ชอบให้มีกลิ่นเจือปนในข้าวสามารถผสมน้ำส้มสายชูเจือจางใส่ในถังไม้ทิ้งไว้ 2-3 ชั่วโมง จากนั้นล้างให้สะอาดด้วยน้ำเปล่า แล้วผึ่งลมให้แห้งจะช่วยขจัดกลิ่นจากน้ำมันธรรมชาติออกได้
โดยทั่วไปควรเลือกขนาดถังไม้ตีข้าวโดยดูจากปริมาณข้าวที่ต้องการผสมเมื่อใส่ในถังไม้ตีข้าวจะได้ประมาณครึ่งถัง เพื่อเหลือที่ไว้สำหรับการผสมข้าวได้ถนัด
ขนาดถังไม้ตีข้าว
|
การตวงแบบญี่ปุ่น
|
น้ำหนักข้าวก่อนหุง
|
น้ำหนักข้าวหลังหุง
|
36 ซม.
|
7 Go (合)
|
1 กก.
|
2.5 กก.
|
45 ซม.
|
2 Sho (升)
|
3 กก.
|
7 กก.
|
51 ซม.
|
2.7 Sho (升)
|
4 กก.
|
9.5 กก.
|
60 ซม.
|
4 Sho (升)
|
6 กก.
|
14 กก.
|
*1 Go (合) = 150 กรัม / 10 Go (合) = 1 Sho (升)
วิธีการดูแลรักษา
เช็ดถังไม้ตีข้าวด้วยผ้าเปียกให้ทั่วก่อนการใช้งานทุกครั้ง เพื่อป้องกันเนื้อไม้ดูดกลิ่นและความชื้นในตัววัตถุดิบเข้าไปเป็นสาเหตุให้ขึ้นราได้ง่ายขึ้น
หลังการใช้งานทุกครั้ง ทำความสะอาดด้วยน้ำร้อนหรือน้ำเย็น และผึ่งลมให้แห้งสนิท ไม่ควรใช้เครื่องเป่าแห้ง หรือแช่น้ำทิ้งไว้เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ตัวเนื้อไม้เสียหายหรือเปลี่ยนรูปได้
เมื่อตากถังไม้ตีข้าวแห้งสนิทดีแล้ว ห่อถังไม้ต้องกระดาษซึมซับและเก็บในที่อากาศถ่ายเท ห้ามเก็บในที่ชื้น หรือโดนแสงแดดโดยตรง
ถังไม้ตีข้าวอาจมีการเปลี่ยนสีเข้มขึ้นตามอายุการใช้งาน หากต้องการขัดทำความสะอาด ให้ใช้น้ำเลม่อนและเกลือในการขัดทำความสะอาด จะช่วยทำความสะอาดและขจัดคราบเชื้อราให้เบาบางลงได้
หากไม่ได้ใช้งานถังไม้ตีข้าวเป็นเวลานาน โปรดระวังการหดตัวที่อาจจะเกิดขึ้นได้หากเก็บไว้ในที่แห้งเกินไป การหดตัวจะทำให้เกิดรอยแตกที่เนื้อไม้ หรือสายรัดทองแดงหลุดออก สามารถซ่อมแซมได้โดยการคว่ำถังลงแล้วใช้ค้อนค่อยๆตอกสายรัดทองแดงเข้าในตำแหน่งเดิม จากนั้นในกรณีที่ไม้เกิดการหดตัวให้เติมน้ำลงในถังไม้เพื่อให้เนื้อไม้ขยายตัวดังเดิมและช่วยป้องกันถังไม้รั่วจากรอยแตกร้าว